สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

โรค Computer vision syndrome

โรค Computer vision syndrome

Computer vision syndrome (CVS) เป็นกลุ่มอาการของตาและสายตาที่เกิดจากการใช้คอมพิวเตอร์ อาการจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อใช้เวลากับคอมพิวเตอร์นานมากขึ้น.

อาการของ Computer vision syndrome
จะมีอาการเมื่อยล้าตา ปวดตา เคืองตา ตาแห้ง น้ำตาไหล ตามัว เห็นภาพซ้อน ปวดคอ หลังและไหล่.

                                         

แนวทางการแก้ไข
จอคอมพิวเตอร์จะให้ภาพที่ดีขึ้นกับ
1. Refresh rate หมายถึงอัตราการกระพริบของจอภาพ จอที่มีค่า refresh rate ต่ำทำให้ตาต้องทำงานมากเพราะภาพที่ได้จะมีการสั่นและกระพริบ. ความถี่ที่เหมาะสมคือ 70 Hz (hertz) หรือมากกว่า. ค่า refresh rate ของจอคอมพิวเตอร์ชนิด CRT สามารถปรับได้ที่ start/settings/control panel/display/ settings/advanced.

2. Resolution หมายถึงความหนาแน่นของ pixel ถ้ามีความหนาแน่นของ pixel สูงจะมีรายละเอียดมากกว่า เช่น 800 x 600 resolution จะมีรายละเอียดมากกว่า 640 x 480. โดยทั่วไปความหนาแน่นของ pixel สูงจะดีกว่าแต่ต้องดูที่ refresh rate ด้วยเพราะถ้ามี resolutions สูงแต่ refresh rate ไม่สูงพอภาพก็อาจไม่ดีได้. ข้อเสียของ resolution สูงคือภาพและข้อความจะมีขนาดเล็กลงและข้อดีของ การใช้จอคอมพิวเตอร์ที่มี resolutions สูงจะทำให้สบายตากว่า.

3. Dot pitch
คือระยะห่างระหว่างรูของช่องโลหะ มีผลต่อความคมชัด. จอคอมพิวเตอร์ปกติมีค่า 0.25-0.28 มม. ค่าต่ำแสดงว่ามีความคมชัดมาก ฉะนั้นค่าที่ดีคือ 0.28 มม. หรือต่ำกว่า ค่า Dot pitch นี้ไม่สามารถปรับได้.

4. ควรปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้มีความสว่างเท่ากับภาวะแวดล้อม ส่วน contrast ควรปรับให้สูงเพื่อให้การโฟกัสและการมี binocularity ง่ายขึ้น. แสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์ทำให้ contrast ลดลงได้ทำให้การมองเห็นไม่สบายตาโดยเฉพาะถ้าเป็นตัวอักษรสีอ่อนบนพี้นสีเข้ม จึงแนะนำให้ใช้ตัวอักษรสีดำบนพื้นขาว ขนาดตัวอักษรควรเป็น 3 เท่าของตัวอักษรตัวเล็กที่สุดที่เราเห็นได้ เราสามารถ ทดสอบโดยเดินห่างออกไป 3 เท่าของระยะทางที่เราใช้งานอยู่ ถ้ายังคงเห็นตัวอักษรบนจอได้อยู่แสดงว่าเป็นขนาดที่เหมาะสมแล้ว.

5. จอแบน มีการบิดเบือนของภาพน้อยกว่าจอโค้ง นอกจากนี้ยังสามารถลดแสงสะท้อนจากหน้าจอได้ดีกว่า เมื่อบวกกับสารพิเศษที่เคลือบทับหน้าจออีกชั้นหนึ่งทำให้สามารถลดแสงสะท้อนได้อย่างดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้กระจกกรองแสง.   

สำหรับจอ LCD ข้อดีคือ ประหยัดไฟฟ้า, ประหยัดพื้นที่ทำงาน, ให้การแสดงผลที่ดี และไม่มีปัญหาเรื่องของสนามแม่เหล็กและการแผ่รังสี.

ปัญหาสายตาและแว่นตา
สายตายาว คนที่มีสายตายาวมีกำลังของสายตาน้อยกว่าปกติ การมองเห็นจอให้เห็นชัดจึงต้องใช้ accommodation มากกว่าคนสายตาปกติ. ในคนที่ไม่มี accommodation ที่เพียงพอจะมีอาการปวด เมื่อยล้าตา ปวดศีรษะได้เมื่อต้องเพ่งมองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ. คนที่มีสายตายาวแต่ไม่ได้ใส่แว่น จะมีอาการมัวเวลามองคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ อาการตามัวอาจมัวเป็นพักๆ เพราะตาไม่สามารถมี accommodation ได้ตลอดเวลา เมื่ออายุมากขึ้นความสามารถในการ accommodation จะน้อยลงจนทำให้คนอายุมากกว่า 40 ปีมักจะต้องใส่แว่นสายตายาวเพื่อให้มองคอมพิวเตอร์ชัด. 

                                       

สายตาสั้น คนสายตาสั้นมองไกลไม่ชัดแต่มองใกล้ได้ดีกว่า คนที่มีสายตาสั้นเล็กน้อยที่เท่ากันทั้ง 2 ข้างอาจไม่ต้องใส่แว่นเวลาใช้คอมพิวเตอร์ มีความเชื่อกันว่าการใช้สายตามองของใกล้ๆ เป็นเวลานานๆ กล้ามเนื้อ ciliary muscle ต้องหดตัวติดต่อกันนานจนอาจเกิดเป็นภาวะ accommodative spasm ซึ่งสามารถทำให้เกิดสายตาสั้นได้ พบว่าการใช้คอมพิวเตอร์ทำให้เกิดภาวะสายตาสั้นชั่วคราวได้ร้อยละ 20 ของคนทำงานคอมพิวเตอร์โดยทุกคน ที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นสายตาสั้นนี้จะมีอาการ asthenopia แต่มีเพียงร้อยละ 32.5 ของคนที่มี asthenopia จะมีสายตาสั้นชั่วคราวนี้ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานที่แน่ชัดว่าการใช้คอมพิวเตอร์ทำให้เกิดสายตาสั้นที่ถาวรได้.

ลักษณะของแว่นตาที่เหมาะกับการใช้คอมพิวเตอร์
♦ แว่นสำหรับคอมพิวเตอร์ ควรมีระยะที่เห็นชัดที่ 18-28 นิ้วฟุตซึ่งเราเรียกว่า intermediate viewing distance และมี intermediate viewing angle 10-15 ต่ำจากระดับตา ในขณะที่แว่นอ่านหนังสือ โดยปกติ เช่น bi-focals หรือ progressive lens จะมีระยะที่เห็นชัดอยู่ที่ระยะ 16-18 นิ้วฟุตจากตาและทำมุม 20-30 ต่ำจากระดับตา. 
                                   
Anti-reflective coating (AR) บนเลนส์จะลดจำนวนแสงจ้าและแสงสะท้อนจากเลนส์ที่จะเข้าสู่ตา.
Lens tints จะลดความสว่างและสีบางสีที่จะเข้าสู่ตา การย้อมสีนี้อาจให้ความสบายกับบางคน.
ในรายที่มีกล้ามเนื้อตาผิดปกติ การใส่ปริซึมในแว่นตาจะทำให้ใช้ตาได้สบายขึ้น.
Ultraviolet coating ถ้าในห้องทำงานมี fluorescent light ซึ่งให้แสงสีฟ้าจำนวนมาก แสงสีฟ้ามีความกระจัดกระจายสูง การใช้ ultraviolet coating จะตัดแสงสีฟ้าที่เข้าตาได้.
ในผู้ที่เป็น presbyopia แว่นสำหรับคอมพิวเตอร์ควรมี intermediate zone ที่กว้างไว้สำหรับมองคอมพิวเตอร์ซึ่งอาจเป็น

1. Single-vision lens
ใช้เลนส์ที่มีระยะที่เห็นชัดที่ 18-28 นิ้วฟุตเพื่อไว้ใช้ดูคอมพิวเตอร์อย่างเดียว มีราคาถูกที่สุด. ข้อเสียคือ มองใกล้มากๆ และมองไกลไม่ชัด.

2. แว่น Multifocal
Trifocal โดยจัดให้เลนส์ส่วนบนของแว่นสำหรับดูไกล ส่วนกลางให้ชัดสำหรับดูคอมพิวเตอร์ และส่วนล่างสำหรับดูหนังสือ. ข้อเสียคือ เลนส์ส่วนกลางจะมีบริเวณแคบและเวลามองคอมพิวเตอร์อาจต้องเงยหน้าขึ้นมอง.
♦ Bifocal จัดให้เลนส์ส่วนบนของแว่นเห็นชัดสำหรับดูคอมพิวเตอร์และส่วนล่างสำหรับดูหนังสือ. ข้อเสียคือ มองไกลไม่ชัด. แต่ถ้าทำให้เลนส์ส่วนบนเห็นชัดสำหรับดูไกลและส่วนล่างสำหรับดูคอมพิวเตอร์. ข้อเสียคือ เวลาดูคอมพิวเตอร์ต้องเงยหน้าขึ้น.
♦ Progressive lens ข้อดีคือไม่มีเส้นรอยต่อระหว่างเลนส์. ข้อเสียคือ การบิดเบี้ยวของภาพที่อยู่ข้างๆ. โดยทั่วไป progressive lens มี intermediate area แคบจึงไม่เหมาะกับการทำงานคอมพิวเตอร์. การพยายามเงยหน้าหรือก้มมาข้างหน้าเพื่อให้เห็นชัดจะทำให้มีอาการปวดคอ ไหล่ และหลัง ฉะนั้นสำหรับการทำงานคอมพิวเตอร์ควรเลือก progressive lens ชนิดมี intermediate zone กว้างและอยู่ตรงกลาง เมื่อมองลงล่างจะดูหนังสือได้ ถ้าก้มหน้าแล้วเหลือบตาขึ้นบนเล็กน้อยก็จะสามารถเห็นไกลได้ประมาณ 10 ฟุตพอให้เห็นของภายในห้องได้ แม้ไม่ชัดพอที่จะขับรถ เราเรียกเลนส์กลุ่มนี้ว่า occupational progressive lenses การใช้เลนส์กลุ่มนี้ทำให้ลดอาการปวดเมื่อยล้าตา ไหล่และหลังได้.    

3. Clip-on เป็นเลนส์ที่นำมาหนีบบนแว่นเพื่อให้เห็นชัดในระยะที่ต้องการ.

การจัดตำแหน่งการนั่งให้เหมาะสมในการใช้คอมพิวเตอร์
ตำแหน่งการนั่งที่ไม่เหมาะสมขณะใช้คอมพิวเตอร์ทำให้มีอาการปวดคอ หลังและไหล่ได้ ตำแหน่งที่แนะนำได้แก่
♦ จอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงกับเรา ห่างประมาณ 20-26 นิ้วฟุต.
♦ จอคอมพิวเตอร์อาจหงายขึ้นบนได้เล็กน้อยเหมือนหนังสือที่เราถืออ่าน.
♦ ในท่ามองตรง จัดให้จุดกลางของจอคอมพิวเตอร์อยู่ต่ำกว่าตาลงมา 5-6 นิ้วฟุต.
♦ ขณะพิมพ์ควรให้แขนขนานกับพื้น เท้าวางราบบนพื้นหรือที่รองเท้า เข่าให้อยู่ระดับเดียวกับเก้าอี้หรือสูงกว่า.
♦ หลังตรงและไม่ให้งอไหล่มาข้างหน้า.
♦ Keyboard และ mouse ควรให้อยู่ต่ำกว่าศอก เพราะถ้าสูงกว่าหรืออยู่ไกลเกินไปจะทำให้ไหล่ต้องรับน้ำหนักของแขน เกิดอาการเมื่อยล้าที่ไหล่ คอและหลังได้.
♦ จัดที่นั่ง ไม่ให้มีลมเป่าเข้าตา.
♦ การมองไปมาระหว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์กับหนังสือทำให้มีอาการเมื่อยล้าได้ จึงควรวางหนังสือให้ใกล้กับจอคอมพิวเตอร์.
♦ ไฟที่ใช้กับหนังสือไม่ควรให้ส่องเข้าตา หรือจอคอมพิวเตอร์.
♦ ขณะใช้คอมพิวเตอร์ควรหยุดพักสายตาเปลี่ยนเป็นมองไกล 2 ครั้งทุกชั่วโมง และควรลุกขึ้นมายืน ขยับแขนขา หลัง คอ ไหล่และข้อบ่อยๆ.

แสงสว่างที่เหมาะสม
แสงจากสิ่งแวดล้อมที่สว่างมากเกินไปทำให้ความสามารถในการ accommodation ลดลงได้ เพื่อลดเกิดอาการเมื่อยล้าตาควรให้ความสว่างจากนอกห้องและในห้องเป็นแค่ครึ่งหนึ่งของสำนักงานทั่วๆไป ควรให้หน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ตั้งฉากกับหน้าต่าง ไม่ควรให้หน้าต่างอยู่หน้าหรือหลังต่อหน้าจอคอมพิวเตอร์เพราะจะเกิดแสงสะท้อนได้.

แสงจ้าบนกำแพงและพื้นผิวที่สะท้อนบนจอคอมพิวเตอร์ทำให้เกิด CVS ได้ ควรแก้ไขด้วยการทากำแพงด้วยสีเข้ม ปิดหน้าต่างไม่ให้แสงจากข้างนอกเข้ามา. สำหรับการใช้ anti-glare screen บนจอคอมพิวเตอร์ช่วยลดแสงจ้าและแสงสะท้อนทำให้ contrast ดีขึ้น ทำให้การใช้ตาสบายขึ้น. แม้บางรายงานไม่พบว่าสามารถลดการปวดเมื่อยล้าตาได้ แนะนำให้ใช้แว่นที่เคลือบ anti-reflective coating เพื่อป้องกันไม่ให้แสงจ้าและแสงสะท้อนจากเลนส์เข้าสู่ตาของเรา.

ตาแห้ง
เมื่อใช้คอมพิวเตอร์คนเราจะกระพริบตาน้อยลง 5 เท่าของปกติ คุณภาพของน้ำตาจึงลดลง ทำให้น้ำตาระเหยจากตามากผิดปกติ ตาจึงแห้งและมีอาการระคายเคืองตา. การดูคอมพิวเตอร์ ตาจะต้องเบิ่งกว้างกว่าการอ่านหนังสือ ทำให้ตามีบริเวณที่สัมผัสอากาศมากกว่าจึงทำให้ตาแห้งมากกว่า โดยเฉพาะในผู้ที่ใส่เลนส์สัมผัส ฉะนั้นทุก 30 นาที ควรกระพริบตา 10 ครั้งอย่างช้าๆ จะช่วยทำให้อาการ ตาแห้งดีขึ้น. การใช้น้ำตาเทียมจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้.

เมื่อเรามีความรู้เกี่ยวกับ CVS อย่างถูกต้อง การปรับจอคอมพิวเตอร์ การใช้แว่นที่เหมาะสม การจัดตำแหน่งการนั่งให้ถูกต้อง การจัดแสงสว่างที่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะช่วยให้เราสามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้อย่างปราศจากอาการ CVS.

โสฬส วุฒิพันธุ์ พ.บ.,
จักษุแพทย์ โรงพยาบาลสงฆ์
ที่มา
http://www.doctor.or.th/node/7253

ความคิดเห็น

  1. 1
    หอพัก อินไทย
    หอพัก อินไทย eakgasit@hotmail.com 18/04/2010 09:35

    ผมเล่นคอมอย่างต่ำ 12 ชั่วโมง มีอาการปวดตาด้วย สงสัยแบบนี้นี่เอง

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view