สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com
Cart รายการสินค้า (0)

ซื้อ แอพบนมือถือ ระวัง จนไม่รู้ตัว

ซื้อ แอพบนมือถือ ระวัง จนไม่รู้ตัว

ข้อแนะนำในการป้องกันไม่ให้เด็กกดซื้อ In-app purchase โดยไม่ตั้งใจ

ผู้เขียน: เสฏฐวุฒิ แสนนาม 
วันที่เผยแพร่: 4 กรกฎาคม 2557 
ปรับปรุงล่าสุด: 6 กรกฎาคม 2557

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2557 หนังสือพิมพ์ไทยหลายฉบับได้เผยแพร่ข่าวว่าเด็กชายเล่นเกม Cookie Run แล้วเจอบิลเรียกเก็บเงินเป็นแสนบาท โดยเนื้อข่าวระบุว่าเด็กชายคนดังกล่าวทำตามคลิปใน YouTube ที่อ้างเป็นวิธีการซื้อไอเมในเกมโดยไม่ต้องจ่ายเงิน และลองปฏิบัติตาม แต่ปรากฎว่าในเวลาต่อมาถูกเรียกเก็บเงินจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือเป็นค่าไอเทมโดยมียอดค่าใช้จ่ายกว่าสองแสนบาท [1]

ทาง AIS ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่เด็กชายคนดังกล่าวใช้บริการอยู่ ได้ให้ข้อมูลว่า ค่าใช้จ่ายดังกล่าวนั้นเกิดจากการใช้บริการ Carrier Billing ซึ่งเป็นการจ่ายเงินซื้อสินค้าใน Google Play Store โดยหักเงินผ่านทางผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทางผู้ใช้บริการได้เปิดใช้งานเป็นแบบรายเดือน และทาง AIS ยังไม่ได้มีมาตรการควบคุมเพดานค่าใช้จ่าย จึงทำให้เด็กคนดังกล่าวสามารถซื้อของในเกมเป็นมูลค่ากว่าสองแสนบาทได้ [2]

ภายหลังจากที่เกิดปัญหาดังกล่าว ทาง AIS ได้ปิดระบบการจ่ายเงินผ่านบริการ Carrier Billing ไปเป็นการชั่วคราว และแถลงข่าวว่าจะยกเลิกค่าบริการให้กับลูกค้าที่กดซื้อสินค้าและบริการโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ล่าสุดทาง กสทช. ได้เข้ามากำกับดูแลการให้บริการ Carrier Billing ของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในประเทศไทยแล้ว [3]

จากข่าวข้างต้น ผู้ปกครองหลายท่านที่ให้บุตรหลานโดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ใช้งานโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต อาจไม่เข้าใจว่าเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และอาจมีความกังวลว่าเด็กอาจจะเผลอไปกดซื้อของในเกมผ่านระบบ In-app purchase จนหมดเงินไปหลายแสนบาทแบบที่เกิดขึ้นในข่าวได้ บทความนี้จะอธิบายสาเหตุและวิธีการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าว

In-app purchase คืออะไร

In-app purchase คือชื่อเรียกวิธีการจ่ายเงินจริงเพื่อซื้อความสามารถหรือคุณสมบัติพิเศษของตัวแอปพลิเคชัน เช่น จ่ายเงินเพื่อปิดหน้าจอแสดงโฆษณา หรืออัพเกรดความสามารถของแอปพลิเคชันให้ทำงานได้มากกว่าเวอร์ชันฟรี เป็นต้น ถ้าเป็นเกม โดยเฉพาะเกมในโทรศัพท์มือถือ จะนิยมใช้ In-app purchase ในการซื้อสิ่งของมาอัพเกรดความสามารถให้กับตัวละครในเกม เช่น ซื้ออาวุธหายากที่ไม่สามารถหาได้ด้วยการเล่นเกมตามปกติ หรือซื้อของเพิ่มพลังชีวิตให้ตัวละครสามารถอยู่ในเกมได้นานขึ้น เป็นต้น ตัวอย่างหน้าจอเกมที่มี In-app purchase เป็นดังรูปที่ 1


รูปที่ 1 ตัวอย่างหน้าจอ In-app purchase ในเกม

เกมในโทรศัพท์มือถือส่วนใหญ่มักจะออกแบบมาให้รองรับระบบ In-app purchase และทำระบบเกมออกมาเอื้อให้คนจ่ายเงินเพื่อซื้อของมาเพิ่มความสามารถให้ตัวละคร เนื่องจากการจ่ายเงินผ่านโทรศัพท์มือถือนั้นสามารถทำได้ง่าย และในหลายครั้งการซื้อของในเกมราคาประมาณ 30-60 บาท สามารถทำให้ตัวละครเก่งขึ้นได้เร็วกว่าการนั่งเล่นเกมเป็นสิบชั่วโมง จึงทำให้คนตัดสินใจจ่ายเงินเพื่อซื้อของเหล่านี้ได้ง่ายกว่า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเกมที่สามารถเล่นเพื่อเอาคะแนนไปแข่งขันกับคนอื่นๆ ได้ก็จะยิ่งทำให้คนยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อของในเกมมากขึ้นไปอีก

ใน Google Play Store และ Apple App Store แอปพลิเคชันไหนที่มีระบบ In-app purchase จะมีข้อความระบุไว้ชัดเจน ดังรูปที่ 2 และ 3 เพียงแต่ว่าใน Play Store นั้นจะไม่มีรายละเอียดบอกว่า In-app purchase ของแต่ละแอปพลิเคชันมีอะไรบ้าง และแต่ละรายการมีราคาเท่าไหร่


รูปที่ 2 หน้าดาวน์โหลดของ Play Store บอกว่าแอปพลิเคชันมี In-app purchase แต่ไม่บอกรายละเอียด


รูปที่ 3 หน้าดาวน์โหลดของ App Store มีข้อมูลรายการ In-app purchase พร้อมราคา

วิธีซื้อ In-app purchase

การจ่ายเงินเพื่อซื้อ In-app purchase สามารถทำได้เหมือนการซื้อแอปตามปกติ โดยหลักๆ แล้วในประเทศไทยสามารถทำได้ 2 วิธีคือจ่ายผ่านบัตรเครดิตและจ่ายผ่าน Carrier Billing ดังตัวอย่างในรูปที่ 4 (AIS 3G Billing)


รูปที่ 4 ตัวอย่างวิธีการจ่ายเงินเพื่อซื้อแอปพลิเคชันจาก Play Store

จ่ายผ่านบัตรเครดิต

ใช้วิธีสมัครบัตรเครดิตแล้วผูกข้อมูลของบัตรเข้ากับบัญชีที่ใช้งานในโทรศัพท์มือถือ แต่หากไม่มีบัตรเครดิตก็สามารถใช้บัตรเดบิตแทนได้ ซึ่งจะแตกต่างจากบัตรเครดิตตรงที่การหักเงินจะหักออกจากเงินที่มีอยู่ในบัญชี และใช้เงินได้เท่ากับจำนวนเงินที่มีอยู่ ไม่ใช่การจ่ายเงินล่วงหน้าแบบบัตรเครดิต

จ่ายผ่าน Carrier Billing

เปลี่ยนจากการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต มาเป็นการจ่ายเงินผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแทน ซึ่งในปัจจุบันนี้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถืออยู่ 2 ค่ายที่ให้บริการ Carrier Billing คือ AIS รองรับการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการผ่าน Google Play Store [4] และ Dtac รองรับการซื้อแอพพลิเคชันผ่าน Windows Phone Store [5] แต่สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS นั้น ขณะนี้ ยังไม่มีการเปิดให้บริการ Carrier Billing ในประเทศไทย

ผู้ให้บริการบางราย (เช่น LINE) มีระบบ Store เป็นของตัวเอง และรองรับการจ่ายเงินเพื่อซื้อของใน Store โดยการใช้บัตรเงินสดหรือบัตรเติมเงินโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่มีบัตรเครดิตและไม่ได้ใช้เครือข่ายโทรศัพท์ที่รองรับ Carrier Billing สามารถซื้อของจาก Store ได้ [6]

การกดซื้อแอปพลิเคชันหรือซื้อ In-app purchase โดยปกติแล้วถ้าหากเป็นระบบปฏิบัติการ Android ที่มีการผูกข้อมูลบัตรเครดิตหรือ Carrier Billing ไว้แล้ว จะสามารถกดซื้อได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวบุคคลอีก แต่หากเป็นระบบปฏิบัติการ iOS จะมีหน้าจอให้ใส่รหัสผ่านของ Apple ID เมื่อมีการซื้อสินค้าทุกครั้ง

วิธีป้องกันปัญหาเด็กกดซื้อ In-app purchase โดยไม่ตั้งใจ

ถ้าพ่อแม่ซื้อโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ตเพื่อเอามาให้ลูกใช้เล่นเกม ก็ไม่ควรไปผูกบัตรเครดิตหรือผูกข้อมูลการจ่ายเงินไว้กับบัญชีที่ล็อกอินไว้ในเครื่องนั้น เพราะการใส่ข้อมูลเหล่านี้ไว้ก็เหมือนกับการฝากกระเป๋าเงินไว้ที่เด็ก ซึ่งเด็กจะหยิบเงินออกมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้

ในระบบปฏิบัติการ iOS มีฟังก์ชันจำกัดสิทธิ์การใช้งาน (Restriction) ซึ่งผู้ปกครองสามารถกำหนดได้ว่าให้ลูกสามารถเปิดใช้งานแอปพลิเคชันอะไรได้บ้าง รวมถึงตั้งรหัสผ่านสำหรับใช้ในการซื้อสินค้าจาก Store ได้ด้วย (เป็นรหัสคนละตัวกับรหัสที่ใช้ใน Apple ID) โดยวิธีการเปิดใช้งานสามารถทำได้โดยไปที่แอปพลิเคชันการตั้งค่า และทำตามวิธีที่อธิบายไว้ในเว็บไซต์ของ Apple ดังรูปที่ 5 [7]


รูปที่ 5 การตั้งค่าการจำกัดในระบบปฏิบัติการ iOS

สำหรับระบบปฏิบัติการ Android สามารถตั้งค่าที่แอป Play Store ได้ว่าต้องการให้ใส่รหัสผ่าน Google Account ทุกครั้งที่มีการสั่งซื้อสินค้าจาก Play Store หรือไม่ ดังรูปที่ 6 โดยสามารถเปิดดูวิธีการตั้งค่าได้จากเว็บไซต์ของ Google [8]


รูปที่ 6 การตั้งค่าให้ใส่รหัสผ่านทุกครั้งที่สั่งซื้อสินค้าจาก Play Store

อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้ไม่ใช่วิธีการที่ปลอดภัยนัก เพราะยังมีจุดอ่อนที่สามารถเข้าไป Clear data ของแอปพลิเคชัน Play Store เพื่อให้สามารถกดซื้อโดยไม่ต้องใส่รหัสยืนยันได้ หรือในบางกรณีการอัพเดตเวอร์ชันของ Play Store หรืออัพเกรดระบบปฏิบัติการ ก็อาจมีการเคลียร์ข้อมูลเก่าของ Play Store ซึ่งก็อาจทำให้การตั้งค่าในส่วนนี้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

ในระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชันปัจจุบัน (Android 4.4 KitKat) ยังไม่มีระบบจำกัดสิทธิ์การใช้งานที่ครอบคลุมและป้องกันได้ดีพอเหมือนกับ iOS ดังนั้นผู้ปกครองที่ให้เด็กใช้มือถือหรือแท็บเล็ตที่เป็นระบบปฏิบัติการ Android และมีการผูกข้อมูลการจ่ายเงินไว้ในบัญชี ก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าอุปกรณ์ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ iOS

ข้อแนะนำและวิธีการป้องกัน

ปัญหาของการซื้อของผ่านระบบออนไลน์นั้นไม่ใช่มีแค่ว่าเด็กจะเอามือถือไปกดซื้อของในเกมได้อย่างเดียว ทางผู้ใหญ่เองหากวางโทรศัพท์มือถือทิ้งไว้หรือถูกขโมย แล้วไม่มีการตั้งค่าล็อคหน้าจอไว้ ก็อาจถูกผู้ไม่หวังดีกดซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ จนเงินหมดบัญชีได้ พึงระลึกไว้เสมอว่าหากมีการผูกข้อมูลการจ่ายเงินเข้ากับตัวอุปกรณ์ใดๆ แล้ว ให้ถือว่าอุปกรณ์นั้นเป็นกระเป๋าเงินหรือเป็นบัตร ATM ที่พร้อมจะถูกกดเงินออกได้ตลอดเวลา ดังนั้นการให้ความสำคัญกับอุปกรณ์เหล่านี้จึงควรให้อยู่ในระดับเดียวกับการระวังรักษากระเป๋าเงิน

การตั้งรหัสผ่านล็อคหน้าจอ รวมถึงกำหนดรหัสสำหรับจ่ายเงินซื้อสินค้า ก็สามารถช่วยป้องกันความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการตั้งค่าติดตามมือถือหายและล้างข้อมูลในเครื่องจากระยะไกล (Remote wipe) ก็สามารถช่วยลดความเสียหายหากมือถือสูญหายหรือถูกขโมยได้

หากตั้งค่าให้ซื้อสินค้าผ่านบัตรเครดิต ควรตรวจสอบข้อมูลการซื้อสินค้าอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่ามีรายการสั่งซื้อสินค้าที่ผิดปกติ ควรรีบแจ้งทางธนาคารและเจ้าของ Store ทันที หรือหากใช้บริการ Carrier Billing ก็ควรใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงิน เพื่อที่จะสามารถควบคุมปริมาณเงินที่จะใช้ซื้อบริการแบบออนไลน์ได้

หากไม่ต้องการให้มีข้อมูลการจ่ายเงินอยู่ในบัญชีที่ใช้ในเครื่อง สามารถเอาข้อมูลเหล่านั้นออกได้ โดยหากเป็น Android ให้ไปที่เว็บไซต์ Google Wallet (https://wallet.google.com) จากนั้นล็อกอินด้วย Google Account ในด้านซ้ายมือ เลือก วิธีชำระเงิน แล้วลบรายการบัตรเครดิตออก ตัวอย่างหน้าจอเป็นดังรูปที่ 7 และ 8 หากใส่ข้อมูล Carrier Billing ไว้ก็สามารถนำรายการดังกล่าวออกได้จากหน้าจอนี้เช่นกัน


รูปที่ 7 ตัวอย่างหน้าจอการตั้งค่า Google Wallet เมื่อเข้าจากเบราว์เซอร์ในคอมพิวเตอร์


รูปที่ 8 ตัวอย่างหน้าจอการตั้งค่า Google Wallet เมื่อเข้าจากโทรศัพท์มือถือ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ทาง กสทช. ได้แถลงผลการหารือร่วมกับผู้ให้บริการ โดยได้ข้อสรุปว่าในอนาคตเมื่อมีการซื้อสินค้าผ่าน Google Play Store จะต้องมีให้ใส่รหัสผ่านเพื่อยืนยันทุกครั้ง กำหนดให้ผู้ซื้อสามารถซื้อสินค้าได้ครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท และให้คิดค่าซื้อสินค้ารวมกับค่าใช้บริการโทรศัพท์ [9] อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าทาง AIS จะแจ้งว่าสามารถเปิดให้บริการ Carrier Billing ได้อีกครั้งในวันที่ 22 กรกฎาคม 2557 แต่จากการตรวจสอบของไทยเซิร์ตในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 พบว่าสามารถทำการใช้งานบริการ Carrier Billing ได้จากซิมโทรศัพท์มือถือของ AIS ที่ซื้อมาใหม่ และสามารถกดซื้อสินค้าได้โดยไม่จำเป็นต้องใส่รหัสผ่านก่อนซื้อแต่อย่างใด

สำหรับผู้ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการ iOS สามารถแก้ไขข้อมูลการจ่ายเงินได้จากแอป App Store หรือ iTunes Store จากในเครื่องได้เลย โดยกเข้าไปที่เมนู Payment Information ดังรูปที่ 9 หรือจะทำผ่านโปรแกรม iTunes บนคอมพิวเตอร์ก็ได้ [10]


รูปที่ 9 ตัวอย่างหน้าจอการตั้งค่าบัญชี Apple ID

การขอคืนเงินในกรณีที่เผลอกดซื้อสินค้าโดยไม่ตั้งใจ

ในระบบปฏิบัติการ Android หากกดซื้อแอปพลิเคชันมาแล้วพบว่าใช้งานไม่ถูกใจ หรือกดซื้อผิด สามารถลบแอปพลิเคชันนั้นออกจากเครื่องได้ภายใน 15 นาทีหลังจากกดซื้อ ซึ่งระบบจะไม่หักเงินออกจากบัญชี แต่หากลบแล้วกดซื้อแอปเดิมซ้ำอีกครั้ง จะไม่สามารถขอเงินคืนได้อีก หากต้องการได้เงินคืน ต้องส่งเรื่องไปยัง Google เพื่อพิจารณาคืนเงินให้ [11]

สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS หากต้องการขอเงินคืน สามารถไปที่เว็บไซต์ของ Apple (http://reportaproblem.apple.com/) เพื่อส่งเรื่องไปแจ้งปัญหาได้ หรือทำผ่านโปรแกรม iTunes ก็ได้ [12] ทั้งนี้ ทาง Apple ยินดีเงินคืนให้ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วพบว่าการซื้อของนั้นเกิดจากเด็กกดซื้อ In-app purchase โดยไม่ตั้งใจ [13]

อ้างอิง

  1. http://www.thairath.co.th/content/431346
  2. http://www.thannews.th.com/index.php?option=com_content&view=article&id=236034&catid=176&Itemid=524#.U6ffvf77sjj
  3. http://www.posttoday.com/%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C/302368/
  4. http://www.ais.co.th/googleplay/
  5. http://www.thairath.co.th/content/367150
  6. http://help.line.me/webstore/web?lang=th&contentId=705
  7. http://support.apple.com/kb/HT4213?viewlocale=th_TH&locale=th_TH
  8. https://support.google.com/googleplay/answer/1626831?hl=th
  9. http://www.twitlonger.com/show/n_1s2b45o
  10. http://support.apple.com/kb/HT1918?viewlocale=th_TH
  11. https://support.google.com/googleplay/answer/134336?hl=th
  12. http://ioshacker.com/how-to/get-refund-app-purchased-app-store
  13. http://recode.net/2014/01/15/apple-agrees-to-ftc-consent-decree-over-in-app-purchases/








Link ที่มา https://www.thaicert.or.th/papers/general/2014/pa2014ge003.html

Tags : ซื้อ แอพบนมือถือ ระวัง จนไม่รู้ตัว

ความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

* *

 

*

view